share

โรคเกี่ยวกับดวงตา

Last updated: 19 Nov 2023
262 Views
โรคเกี่ยวกับดวงตา

กลุ่มอาการโรคเกี่ยวกับดวงตาที่พบบ่อยและสามารถรักษาได้กรรมวิธิแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีน

1.ต้อหิน

เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา ส่วนใหญ่มีความดันลูกตาสูง ซึ่งอาการที่สามารถสังเกต คือ หากเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน จะปวดตา ตามัวลง และเห็นรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ เนื่องจากความดันตาสูงมาก แต่ความน่าสนใจของโรคต้อหิน คือผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่มีอาการเลย เหมือนภัยเงียบค่อยๆ ทำลายเส้นประสาท โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ต้อหินเฉียบพลันพบบ่อยในคนอายุน้อย เริ่มตั้งแต่อายุ 30กว่าๆ เพิ่มมากขึ้น 

2.ต้อกระจก

เป็นภาวะที่เลนส์ตามีความขุ่นมัว จากปกติที่มีความใส ทำให้แสงผ่านเข้าดวงตาลดลง บดบังทำให้ไม่สามารถทำให้จอประสาทตารับภาพได้ชัดเจน ทำให้การมองเห็นลดลงเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่พบในผู้สูงวัย อายุมากกว่า 50 60ปีขึ้นไป อาการที่สังเกตได้คือ ตาจะค่อย ๆ พร่ามัวลงเหมือนมีหมอกหรือฝ้าบัง เห็นภาพซ้อน เห็นแสงไฟกระจาย มองภาพเป็นสีเหลืองหรือสีผิดเพี้ยนไป อาจมีค่าสายตาเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น สายตาสั้นมากขึ้น ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยผิดปกติ

3.ต้อเนื้อ ต้อลม

คือ ความเสื่อมสภาพของเยื่อบุตา ทำให้มีเนื้อเยื่อผิดปกติเป็นเยื่อสีแดงยื่นเข้าไปในตาดำเป็นรูปสามเหลี่ยม ค่อย ๆ ลุกลาม ถ้าเป็นมากใกล้หรือบังปิดรูม่านตา มีสายตาเอียงมากขึ้นหรือตามัวลงมาก

       ต้อเนื้อ พบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา โรคนี้มีความสัมพันธ์กับแสงแดด แสงอัลตราไวโอเลต ทำให้เยื่อบุตาเสื่อมสภาพลง พบบ่อยในเขตร้อนและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง พบเจอทั้งแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน ทราย พบมากในผู้ที่มีอายุ 30 35 ปี ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นคือ ตาแดง ระคายเคือง ไม่สบายตา  ถ้าเป็นมากจะเห็นภาพไม่ชัด

       ส่วน ต้อลม คือ การเสื่อมสภาพเช่นเดียวกับต้อเนื้อ แต่ยังไม่ลุกลามเข้าตาดำเป็นอยู่บริเวณเยื่อบุตาเท่านั้น จึงมีอาการแค่ระคายเคือง แต่ตาไม่มัวลง

4.วุ้นตาเสื่อม

วุ้นตา มีลักษณะเป็นเจลหนืดใสเหมือนวุ้นอยู่ภายในส่วนหลังของลูกตาโดยอยู่ติดกับจอประสาทตาที่ล้อมรอบมันอยู่ เมื่อวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) น้ำวุ้นในตามีการเปลี่ยนสภาพ บางส่วนจะกลายเป็นของเหลวและบางส่วนจับเป็นก้อนหรือเป็นเส้นเหมือนหยากไย่ และวุ้นตาอาจจะหดตัวลอกออกจากผิวจอประสาทตา ทำให้มองเห็นเป็นเงาดำ จุดเล็ก ๆ เส้น ๆ วง ๆ หรือเส้นหยากไย่ลอยไปลอยมา ขยับไปมาได้ตามการกลอกตา หรือมีแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป ความน่าสนใจคือสาเหตุของโรคมักเกิดจากความเสื่อมตามวัย พบมากในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มสายตาสั้น แต่ปัจจุบันผู้ที่เป็นโรคนี้อายุน้อยลงเรื่อย ๆ และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษาอาจร้ายแรงถึงขั้นจอประสาทตาฉีกขาด หลุดลอก และสูญเสียการมองเห็นถาวรได้

5.จอประสาทตาเสื่อมตามวัย

จอประสาทตาเสื่อมตามวัย เกิดจากจุดรับภาพบริเวณกลางจอประสาทตาเสื่อม มักเป็นไปตามวัย พบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น อาการที่สังเกตได้คือ มองภาพไม่ชัด มองเห็นบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ

6.เบาหวานขึ้นตา

เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากโรคเบาหวาน พบในผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีสาเหตุมาจากการที่น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดและระบบประสาทเสื่อมลง ส่งผลให้ชั้นจอประสาทในลูกตาเกิดความเสื่อม ถ้าทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตามัวและตาบอดได้

7.ตาแห้ง

เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในกลุ่มสูงวัยและในวัยทำงาน มีอาการไม่สบายตา ระคายเคือง เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา แสบตาหรืออาจน้ำตาไหลมากได้ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland Dysfunction) การใส่คอนแทคเลนส์ การใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นาน ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือโรคและการรับประทานยาบางชนิด หากปล่อยไว้ไม่ได้รักษาอาจทำให้การมองเห็นมัวลง มีการอักเสบของเยื่อบุตาหรือกระจกตา

8.โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือ โรคซีวีเอส

เป็นอาการที่มักจะเกิดกับคนที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินสองชั่วโมงขึ้นไป ก็จะเริ่มมีอาการปวดตา แสบตา ตามัวและบ่อยครั้งมักจะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย สาเหตุเพราะใช้สายตาในการจ้องมองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มักจะไม่ค่อยกระพริบตา จึงทำให้มีอาการแสบตา ตาแห้ง รู้สึกฝืดๆในตา พบได้ถึงร้อยละ 75 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์ 

9.ภูมิแพ้ขึ้นตา

คือ การที่เยื่อบุตามีปฏิกิริยาภูมิไวเกินต่อสารก่อภูมิแพ้ คนที่เป็นภูมิแพ้จะมีการอักเสบของเยื่อบุตามากกว่าปกติ โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยถึงร้อยละ 10-20ของคนปกติ อาการของภูมิแพ้ขึ้นตา ได้แก่ คันตา ตาแดง น้ำตาไหล อาจมีเปลือกตาบวมแดงร่วมด้วยได้ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีการอักเสบหรือติดเชื้อที่กระจกตาจนสูญเสียการมองเห็นได้

10.ไมเกรนทางตา

อาการไมเกรนทางตา ที่พบได้บ่อยคือ เห็นเป็นแสงสว่างเป็นวงและบริเวณขอบๆมีแสงสีรุ้งเป็นเส้นซิกแซก เริ่มจากตรงกลางภาพและขยายขนาดหรือเคลื่อนที่ออกไปทางด้านข้าง บางครั้งเห็นภาพบิดเบี้ยว บริเวณตรงกลางภาพหายไป หรือเห็นภาพเป็นสีขาวดำ ก็เป็นได้ อาการนำแบบอื่น ได้แก่ รู้สึกไวกับแสง

11.เลือดออกในช่องหน้าลูกตา

อาการหลักเมื่อมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา คือ ตามัวลงทันทีหลังได้รับอุบัติเหตุ ซึ่งจะมัวมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณเลือดที่ออกในช่องหน้าลูกตา บางครั้งเลือดเหล่านี้ อาจไปอุดทางระบายน้ำจากภายในลูกตาไม่ให้ไหลออกนอกลูกตา ทำให้มีความดันลูกตาสูงและมีต้อหินตามมาได้ ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการปวดตาอย่างมากร่วมด้วย

13.พังผืดที่จอตา

หากพังผืดที่จอตาเป็นน้อย มักไม่ก่อให้เกิดอาการอะไร แต่หากพังผืดมีขนาดใหญ่ หนา หรือมีรอยย่นมากมักส่งผลทำให้การมองเห็นผิดปกติไปได้แก่ มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นภาพมีขนาดใหญ่หรือเล็กกว่าความเป็นจริงและตามัวลง

14.โรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมน้ำ

คือ โรคที่มีการรั่วซึมของสารน้ำมาสะสมอยู่ใต้ชั้นประสาทตา โรคนี้พบได้บ่อยเป็นโรคที่มีความผิดปกติที่จอประสาทตา ซึ่งพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิง และช่วงอายุที่มักเกิดโรคอยู่ในช่วง 25 - 50 ปี สาเหตุเกิดจากการอักเสบ และขาดเลือดของชั้นคอรอยด์ซึ่งอยู่ใต้ชั้นประสาทตา เมื่อมีการอักเสบทำให้สารน้ำสามารถซึมผ่านเข้าไปได้ง่าย และแทรกอยู่ใต้ชั้นประสาทตาตรงบริเวณจุดรับภาพ อาการของโรคนี้ ได้แก่ ตามัวลง มองเห็นความสว่างของภาพลดลง ลักษณะคล้ายมองผ่านแว่นตาสีชา การเห็นสีต่าง ๆ จะเพี้ยนไป เห็นวัตถุขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง หรือภาพบิดเบี้ยวไป เป็นต้น

15.โรคตาแดง

จะมีอาการเคืองตา คัน และปวดตา สังเกตุว่าเยื่อบุตาขาวมีสีแดง มีน้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ มีขี้ตาแฉะ บางครั้งอาการของโรคที่รุนแรงนำไปสู่การมองเห็นที่ลดลงได้ โดยมากมักจะเริ่มในตาข้างนึงก่อนแล้วจึงเป็นตามมาในตาอีกข้าง เปลือกตาอาจบวมแดง เยื่อบุตาขาวกลายเป็นสีแดง มีตุ่มนูนที่เยื่อบุตา ตาแฉะ มีเยื่อเมือกเหลืองที่เยื่อบุตา และน้ำตาไหลมาก มีฝ้าบริเวณกระจกตาดำ

16.โรคเริมในดวงตา

เชื้อไวรัสเริม ( Herpes Simplex Virus - 1 ; HSV -1 )  มักทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณใบหน้า และดวงตา ผู้ป่วยมักมีอาการ ได้แก่ ปวดตา สู้แสงไม่ได้ ตามัว น้ำตาไหล ตาแดง บางรายพบเป็นตุ่มน้ำที่บริเวณเปลือกตา

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำรองคิวการรับการปรึกษา นัดหมายการรักษา ได้ที่ 081-7147438 , 095 - 1264488, Lind ID : @2kclinic




บทความที่เกี่ยวข้อง
การพอกยาสมุนไพร
เป็นวิธีการรักษาทางแพทย์แผนไทย คือ การนำสมุนไพรที่มีทั้งฤทธิ์ร้อนและฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณกระจายเลือดลมบริเวณข้อ เพิ่มไหลเวียนของเลือด ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ลดอาการบวม นำมาพอกบริเวณอวัยวะที่ปวดเป็นเวลา 15 – 20 นาที ช่วยรักษาอาการปวดและการอักเสบ
1 Dec 2023
การบ่งต้อ รักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตา
คือ วิธีการรักษา อาการ หรือ ความผิดปกติของดวงตา เช่น ต้อเนื้อ ต้อลม อาการแสบตา จอประสาทตาเสื่อม และอาการอื่นๆ โดยการใช้หนามหวายขม หรือ อุปกรณ์ต่างๆ ดึงเส้นใยที่เกิดขึ้นในจุดรอยโรคที่อยู่บริเวณแผ่นหลังของผู้ป่วย โดยมิได้กระทำใดๆ ต่อดวงตา
30 Nov 2023
การรมยาจีน
วิธีการใช้สมุนไพร จุดไฟแล้ววางตรงตำแหน่งที่แน่นอนบนร่างกาย เพื่อให้เกิดความร้อนบน เป็นการรักษา ป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
28 Nov 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy